วัด บ้านเซกา นามเดิมคือ “วัดสันติมหาวัน” ตั้งอยู่เลขที่ ๓๘ หมู่ ๑๑ บ้านดงไร่ ต.เซกา อ.เซกา จ.บึงกาฬ(แยกจากหนองคาย) มีเนื้อที่ ๙๓ ไร่เศษเป็นป่าธรรมชาติทั้งหมด
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ พระอาจารย์ประสงค์ ภูริปัญโญ(พระครูสันติปัญญาภรณ์ หลวงปู่เทพา ในปัจุบัน) มาปักกลดที่ป่าดงไร่แห่งนี้ ได้นิมิตว่า คนแก่ ๕-๖คน นำพาไปขุดไหเงิน เหมือนคนแก่เหล่านั้นอยากให้มาตั้งวัดตรงนี้
ปี พ.ศ.๒๕๑๘ หลวงปู่จึงตัดสินใจมาตั้งวัดและจำพรรษาที่ป่่าแห่งนี้ พระครูกุนนทีคณารักษ์ เจ้าคณะอำเภอเซกาในสมัยนั้น ได้ตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดสันติมหาวัน” และหลวงปู่ก็อยู่จำพรรษาตั้งแต่นั้นเรื่อยมาจนเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับอนุญาตให้สร้างวัด
เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๒๕ ได้รับอนุญาตตั้ง เปลี่ยนจากชื่อ วัดสันติมหาวัน เป็น “วัดบ้านเซกา” เพื่อรักษาประวัติศาสตร์ของถิ่นนี้ และเพื่อประดิษฐานพระเจ้ามูลเมืองเซกา
เมื่อวันที ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมาได้รับอนุญาตจากมหาเถรสมาคม ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๒ ให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดเซกาเจติยาราม” หลวงปู่เป็นผู้นำพาก่อตั้งวัดนี้เป็นผู้แรกเรื่อยมาแต่ปี ๒๕๑๘ จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ.๒๕๓๙ หลวงปู่ได้นำพาคณะญาติโยมและลูกศิษย์สร้างอุโบสถ กว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๙ เมตร สิ้นทุนทรัพย์ไปทั้งสิ้น เจ็ดล้านแปดแสนเก้าหมื่นบานถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ขอพระราชทานตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี มาประดิษฐานกน้าบันอุโบสถนั้นด้วย จึงให้ชื่อว่า “โบสถ์มหาราชา”
ปี พ.ศ.๒๕๔๗ หลวงปู่ได้นำพาคณะญาติโยมและลูกศิษย์สร้างศาลาโรงธรรม กว้าง ๑ เมตร ยาว ๓๒ เมตร เป็นทรงไทยชั้นเดียว สิ้นทุนทรัพย์ไป แปดล้านเก้าแสนแปดหมื่นบาท ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ และได้ขอพระราชทานตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา องสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นประดิษฐานที่หน้าบันศาลาโรงธรรมนั้นด้วย และพระองค์ได้พระราชทานนามศาลาหลังนี้ว่า “ศาลาเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา บรมราชินีนาถ” เพื่อให้คู่พระบารมีจึงให้ชื่อว่า “ศาลามหาราชินี”
ปึ พ.ศ. ๒๕๕๐ หลวงปู่ได้รับอาราธนาไปงานพุทธาภิเษก ที่วัดประยงค์กิตติ-วราราม กรุงเทพฯ มีโยมชื่อเอกได้นำพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นของพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว รักษาสืบต่อกันมา ๖๐ กว่าปี มาถวายหลวงปู่ หลวงปู่รับปากว่าจะสร้างเจดีย์บรรจุเอาไว้เพื่อเป็นที่กราบไหว้ของเทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย พระบรมสารีริกธาตุชุดนี้สวยงามมากไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน พอดีออกพรรษา ปี ๒๕๕๐ คณะญาติโยมลูกศิษย์นำกฐินมาทอดถวายเป็นกฐินสามัคคี ปีนั้นพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษาพอดี หลวงปู่จึงบอกลูกศิษย์ว่า ให้ชื่อกฐินกองนี้ว่า “กฐินกตัญญู” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเพื่อทดแทนคุณ แผ่นดิน ทอดถวายแล้วได้ จตุปัจจัย หนึ่งล้านหนึ่งแสนสามหมื่นหกพันหนึ่งร้อยหกสิบบาท หลวงปู่จึงปรารภกับคณะญาติโยมลูกศิษย์ทุกคนว่า อุโบสถ ศาลา และเสนาสนะ เรามีพอใช้แล้ว อยากสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่มีอยู่ ทุกคนเห็นพร้อมสาธุการจึงได้เอาปัจจัยนั้นลงรากฐานเจดีย์ เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ โดยฐานกว้าง ๑๒ เมตร มณฑลสูง ๓๐ เมตรรวมฉัตร และมีเจดีย์บรรจุพระอรหันตธาตุ สูง ๘ เมตร อีก ๔ องค์ ประจำทั้ง ๔ มุม ก่อสร้างเรื่อยมาจนบัดนี้เสร็จเรียบร้อยดีงาม จึงเอามงคลนามที่ว่ากฐินกตัญญูนั้นมาตั้งเป็นชื่อเจดีย์นี้ว่า “พระธาตุกตัญญู” โดยสิ้นทุนทรัพย์ในการก่อสร้างไปทั้งหมดประมาณ สี่ล้านแปดแสนเก้าหมื่นสองพันห้าร้อยบาท เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์จึงให้ชื่อเจดีย์นี้ว่า “เจดีย์เจ้าฟ้า”
ที่มา : https://watsekajetiyaram.com/mobile/page-10-news.html